ปากกาเคมี กับอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
ปากกานับว่าเป็นหนึ่งในอุปกรณ์เครื่องเขียนที่มีความจำเป็นต่อการใช้งานอย่างมากในชีวิตประจำวัน ซึ่งแน่นอนว่าเรารู้อยู่แล้วว่ามีปากกาด้วยกันมากมายหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบที่เราใช้เขียนทั่วไปอย่างแบบลูกลื่น หรือแบบโรลเลอร์บอล แบบที่เราใช้ในการเซ็นหรือเขียนชื่อ อย่างแบบปากกาหมึกซึม หรือแบบปากกาเจล ปากกาพลาสติก ยังมีอยู่อีกรูปแบบหนึ่ง ที่เราใช้ในการเขียนเหมือนกัน แต่อาจจะใช้ในงานที่แตกต่างจากเหล่านี้อยู่บ้าง นั่นก็คือปากกาเคมีหรือไวท์บอร์ด ที่มีการพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานบางรูปแบบเช่นเดียวกัน
หลายคนน่าจะรู้กันอยู่แล้วว่าแบบเคมีนั้นถูกพัฒนามาจากการใช้ชอล์กเขียนกระดาน โดยมีการผสมสารเคมีต่าง ๆ เพื่อทำออกมาเป็นน้ำหมึก ถึงแม้ว่าเครื่องเขียนชนิดนี้จะค่อนข้างมีประโยชน์ และเราใช้กันโดยทั่วไปเป็นปกติอยู่แล้ว แต่สารเคมีที่อยู่ในน้ำหมึกนั้น ก็อาจมีอันตรายต่อร่างกายของผู้ใช้งานได้ด้วยเช่นเดียวกัน แต่ว่าอันตรายนั้นมันมากน้อยเพียงใด หรือเราจำเป็นจะต้องระวังมากถึงขนาดนั้นด้วยหรือไม่ วันนี้เรามาดูถึงอันตรายที่ว่านี้กัน
ส่วนที่เป็นอันตรายของปากกาเคมี
ส่วนที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเรา ในการใช้งานอุปกรณ์เครื่องเขียนชนิดนี้นั้น ก็คงจะหนีไม่พ้นในส่วนของน้ำหมึก ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องมาดูส่วนประกอบของน้ำหมึกที่ว่ากันก่อน ว่ามันเกิดจากการผสมอะไรถึงมาเป็นสิ่งนี้
ส่วนผสมของน้ำหมึกของมันประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ ส่วนแรกคือสี ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการผสมกับตัวทำละลาย ส่วนที่ 2 คือโพลิเมอร์ ซึ่งเป็นเคมีที่มีส่วนทำให้ปากกานั้นสามารถที่จะลบออกได้อย่างง่ายดาย และส่วนที่ 3 คือส่วนตัวทำละลายนี้เอง ซึ่งส่วนนี้แหละที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์เราเป็นอย่างมากเลยทีเดียว
ตัวทำละลายของปากกาเคมี
ตัวทำละลายที่ว่านั้น จะนำมาผสมกับสีของน้ำหมึก ซึ่งก็ยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดอีก คือไซรีนและโทลูอีน ตัวไซรีนนี้เป็นตัวที่ส่งผลให้ปากกาเคมีของเรา ในขณะที่เราใช้งานนั้นมีกลิ่นฉุน ซึ่งสารเคมีดังกล่าวนี้สามารถที่จะซึมเข้าร่างกายเราได้ผ่านทางการสูดดมและผ่านทางผิวหนัง แต่ผิวหนังของเราจะไม่ได้รับการระคายเคืองแต่อย่างใดจากการโดนสารเคมีชนิดนี้ผ่านตัวสีของน้ำหมึก นอกจากว่าเราจะสัมผัสกับตัวไซรีนโดยตรง หรือสัมผัสในปริมาณที่มากจนเกินไป โดยผลข้างเคียงของการได้รับสารเคมีชนิดนี้เข้าไป ในปริมาณที่มากจนเกินไป จะทำให้ร่างกายของเราเกิดการมึนงง ปวดศีรษะคลื่นไส้อาเจียนมีอาการจามและน้ำมูกไหลตามมาได้เหมือนกัน
สารเคมีอีกชนิดหนึ่งมีชื่อว่า โทลูอีน ซึ่งโทลูอีนที่ว่านี้เป็นสารระเหยที่มีคุณสมบัติคล้ายกับสารเสพติด หากเรามีการสูดดมสารชนิดนี้เป็นประจำและในระยะเวลาที่ต่อเนื่อง อาจจะทำให้เกิดการเสพติดได้ ส่วนฤทธิ์ของสารเคมีโทลูอีนที่ว่านี้จะมีฤทธิ์ทำให้ร่างกายเกิดความอ่อนเพลีย มีอาการเหนื่อยง่ายคลื่นไส้สับสนและอาจเบื่ออาหารได้ หรือหากเลวร้ายอาจจะส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดแดงเกิดความผิดปกติได้ และยังสามารถส่งผลทำลายไขกระดูกของเราได้อีกด้วย
ด้วยการที่ตัวทำละลายและสารเคมีทั้ง 2 นี้เป็นอันตรายต่อตัวผู้ใช้งาน ทำให้บริษัทที่ผลิตอุปกรณ์เครื่องเขียนหลายบริษัท เล็งเห็นถึงจุดนี้และหันมาใส่ใจผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยการคิดค้นหาวิธีการในการพัฒนาและผลิตปากกาเคมีให้มีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์อย่างเราด้วย เพื่อให้การใช้งานนั้นสามารถที่จะสร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคได้มากกว่าการสร้างโทษ