วิธีดูแลรักษาปากกาหมึกซึม(ที่ถูกต้อง) ช่วยยืดอายุการใช้งานปากกาด้ามโปรด ให้เขียนได้ลื่นไหลยาวนานขึ้น
ในการเก็บสะสมปากกานั้น แน่นอนว่าหนึ่งในปัญหาสำคัญที่นักสะสมหลายคนต้องเจอก็คือการดูแลรักษาปากกาให้คงสภาพสมบูรณ์และสามารถใช้งานได้อย่างปกติไว้ให้นานที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปากกาหมึกซึมที่มีรายละเอียดส่วนประกอบต่างๆ ที่แตกต่างไปจากแบบลูกลื่น และมีวิธีการดูแลรักษาที่ค่อนข้างซับซ้อนกว่า ซึ่งหากดูแลรักษาไม่ถูกวิธีก็อาจถึงขั้นทำให้ตัวสินค้าเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้ และทำให้มูลค่าของมันสูญหายตามไปด้วยเลยก็เป็นได้ ในบทความนี้จึงจะมาแนะนำวิธีการดูแลรักษาปากกาหมึกซึมที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้ปากกาด้ามโปรดของเรามีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น สามารถคงคุณภาพการเขียนอย่างลื่นไหลไว้ได้ แม้ว่าเราจะไม่ค่อยได้หยิบจับมาใช้งานในชีวิตประจำวันก็ตาม
ไม่เก็บปากกาไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง พื้นฐานการดูแลรักษาที่สำคัญประการแรก ซึ่งนักสะสมหลายคนอาจมองข้ามไปก็คือเรื่องของอุณหภูมิ หรือความร้อน โดยเราควรหลีกเลี่ยงการเก็บปากกาหมึกซึมไว้ในที่ที่อุณหภูมิสูง ตัวอย่างเช่น บนโต๊ะ ชั้นเก็บของในบ้านที่แสงแดดช่วงบ่ายสามารถส่องถึงได้ ในรถยนต์ขณะจอดดับเครื่องไว้ เป็นต้น เพราะการเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงดังที่ยกตัวอย่างนี้เป็นเวลานานมีความเสี่ยงที่จะทำให้หมึกของปากกาเสียหาย หรือแห้งจนไม่สามารถขีดเขียนได้ นอกจากนี้วัสดุโลหะของตัวด้ามก็เสี่ยงเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้นอีกด้วย เช่นเดียวกับสีสันของตัวด้ามที่อาจซีดจางลงอย่างรวดเร็ว
ไม่ลงน้ำหนักในการเขียนมากเกินไป ในการใช้งานปากกาลูกลื่น หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับการกดหัวลูกลื่นให้ลงน้ำหนักไปที่กระดาษมากหน่อย เพื่อความชัดเจนของสีน้ำหมึกที่เขียนออกมา หรือพูดง่ายๆก็คือยิ่งเรากดแรงเท่าไหร่ สีน้ำหมึกที่เขียนออกมาก็ยิ่งมีความเข้มมากเท่านั้น ตรงกันข้ามหากเราลงน้ำหนักมือน้อย สีน้ำหมึกก็อาจจะซีดจาง ไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตามเทคนิคดังกล่าวนี้ต้องบอกว่าไม่ควรนำมาใช้กับปากกาหมึกซึม เพราะระบบการไหลของน้ำหมึกมีความแตกต่างกัน และการลงน้ำหนักในการกดมากเกินไปเสี่ยงที่จะทำให้การไหลของน้ำหมึกผิดปกติ โดยน้ำหมึกที่ไหลออกมาอาจขาดตอน จนไม่สามารถเขียนได้อย่างลื่นไหล และทำให้ตัวอักษรที่ได้นั้นไม่สวยงาม นอกจากนี้ยังอาจทำให้หัวคอแร้งได้รับความเสียหายอีกด้วย
นำปากกาออกมาขีดเขียนบ้าง ปัญหายอดฮิตอย่างหนึ่งที่นักสะสมหลายคน ซึ่งมีปากกาไว้ในครอบครองหลายด้ามเจอกันก็คือ เมื่อเก็บปากกาไว้นานๆ โดยไม่ได้หยิบจับมาใช้งานเลยจะทำให้ปากกาเขียนไม่ออก หรือบ้างก็มีอาการน้ำหมึกไหลเยิ้มเลอะหัวปากกา ซึ่งวิธีแก้ก็คือการหยิบจับออกมาขีดเขียนบ้างเป็นครั้งคราวนั่นเอง เพื่อให้ระบบการไหลของน้ำหมึกสามารถทำงานได้อย่างปกติ โดยหากเป็นปากกาที่เน้นเก็บสะสมเพื่อคงสภาพสมบูรณ์ไว้ก็อาจหยิบจับออกมาขีดเขียนข้อความสั้นๆ สักสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เป็นต้น เท่านี้ก็เพียงพอที่จะช่วยให้ระบบการไหลของน้ำหมึกเป็นปกติ ป้องกันปัญหาหมึกแห้งได้แล้ว
ทำความสะอาดหัวปากกา และฝาปิดหลังการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ในการใช้งานปากกาหมึกซึมนั้น อาจมีน้ำหมึกส่วนเกินไหลติดอยู่ที่หัวคอแร้งเป็นปกติ ซึ่งหากต้องการคงสภาพความสวยงามของหัวคอแร้งให้สมบูรณ์ที่สุด การเช็ดทำความสะอาดหลังการใช้งานก็ถือเป็นสิ่งที่นักสะสมควรทำ เช่นเดียวกับฝาปิด ซึ่งอาจสัมผัสหมึก หรือฝุ่นขณะวางเก็บไว้ การเช็ดทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยให้ตัววัสดุโลหะของหัวคอแร้งนั้นสวยงามเหมือนใหม่อยู่เสมอ การทำดูแลปากกาบางข้อสามารถใช้กับปากกาอื่น ๆ ได้ด้วยอย่างเช่น ปากกาพลาสติก ปากกาโลหะ