ทำไม NASA ต้องผลิตปากกาอวกาศ ในเมื่อดินสอก็ใช้งานได้ ?
ปากกา เป็นอุปกรณ์เครื่องเขียนที่มีความสำคัญและได้รับความนิยมอย่างมากในการประกอบอาชีพต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปากกาพลาสติกหรือปากกาโลหะก็ตาม ซึ่งโดยทั่วไปนั้น ปากกาที่เราใช้งานอยู่จะมีหลักการทำงานโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกเป็นหลัก โดยแรงโน้มถ่วงนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำหมึกปากกาไหลลงมาสู่หัวปากกาผ่านลงมาจนซึมเข้าสู่กระดาษและกลายเป็นตัวอักษรต่าง ๆ แต่หากเราต้องการใช้งานปากกาโดยในสถานที่ที่ไม่มีแรงโน้มถ่วงอย่างนอกโลกล่ะ ? แน่นอนว่าปากกาที่เราใช้งานอยู่นั้น ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติเหมือนกับการใช้งานบนผิวโลกอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้เอง องค์กร NASA จึงได้มีการคิดค้นและต้องการที่จะผลิตปากกาที่จะสามารถใช้งานบนอวกาศได้ขึ้นมานั่นเอง
ฟังดูแล้วก็เหมือนจะสมเหตุสมผลใช่ไหมคะ แต่ว่าประเทศรัสเซียกลับไม่ได้คิดเช่นเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา เพราะประเทศรัสเซียได้มีการประกาศที่จะไม่ใช้ปากกาบนอวกาศ เพราะเชื่อว่า ต่อให้ปากกาจะไม่สามารถใช้งานบนอวกาศได้ แต่ดินสอไม้ยังคงสามารถใช้งานได้ตามปกติ การที่องค์กร NASA ทุ่มงบประมาณในการผลิตปากกาที่จะใช้งานบนอวกาศได้ถึงล้านเหรียญสหรัฐนั้น จึงเป็นการใช้งบประมาณโดยสูญเปล่า ทำให้ในช่วงเวลานั้น องค์กร NASA โดนวิจารณ์และโจมตีอย่างมากจากประชาชนหลายฝ่าย
แต่ถึงแม้ว่าองค์กร NASA จะได้รับคำวิจารณ์ต่าง ๆ นานาในแง่ลบก็ตาม แต่องค์กร NASA เองก็ยังไม่ล้มเลิกความคิดที่จะผลิตปากกาที่สามารถใช้งานบนอวกาศได้อยู่ดี จนมีชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า Paul C. Fisher เจ้าของบริษัทปากกา Fisher Pen Company ได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและรู้สึกท้าทายอย่างมากในการผลิตปากกาให้สำเร็จ เขาจึงเริ่มคิดค้นและทำการผลิตจนประสบความสำเร็จในปี ค.ศ. 1965 โดยใช้เงินลงทุนไป 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,593,000 บาท (คำนวณจากค่าเงิน ณ ปีค.ศ.1965) โดยใช้เวลาในการคิดค้นปากกานานถึง 5 ปีด้วยกันเลยทีเดียว
ปากกาที่ Paul C. Fisher ผลิตขึ้นมานั้น ถูกใช้ชื่อว่า Fisher Space Pen หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Space pen หรือ ปากกาอวกาศ ซึ่งปากกาอวกาศที่ถูกผลิตออกมานั้น ไม่ใช่เพียงแค่สามารถใช้งานบนอวกาศได้เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้งานได้ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิติดลบถึง 35 องศาเซลเซียส ไปจนถึงที่ที่มีอุณหภูมิสูงถึง 120 องศาเซลเซียสได้เลย
หลาย ๆ คนอาจจะมีความสงสัยคล้าย ๆ กับสหภาพโซเวียดว่าทำไมสหรัฐอเมริกาถึงไม่ยอมใช้ดินสอบนอวกาศทั้ง ๆ ที่ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ง่ายมาก ๆ จริงแล้วนั้น การใช้ดินสอบนอวกาศนั้นมีผลกระทบอย่างมากต่อการทำงานบนอวกาศ เนื่องจากไส้ของดินสอนั้นมีความเปราะ สามารถแตกหักได้ง่าย และเมื่อขีดเขียนลงบนกระดาษก็ยังมีเศษของไส้ดินสอหลงปะปนออกมา ซึ่งในพื้นที่ที่ปราศจากแรงโน้มถ่วงนั้น เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าชิ้นส่วนของดินสอที่หลุดออกมานั้นจะไปติดขัดอยู่กับอุปกรณ์ของนักบินอวกาศหรือไม่ ซึ่งหากชิ้นส่วนเหล่านั้นไปกระทบจนทำให้อุปกรณ์อวกาศเสียหาย ก็อาจจะเกิดอันตรายต่อนักบินอวกาศได้ เพราะในสภาวะบนอวกาศนั้น หากเกิดความผิดพลาดแม้แต่ 0.1% ก็อาจจะก่อให้เกิดความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ได้ นอกจากนั้นแล้ว ไส้ของดินสอยังเป็นสื่อที่สามารถติดไฟได้ง่าย ทำให้องค์กร NASA เกรงว่าจะเกิดเหตุการโศกนาฏกรรมไฟไหม้ เหมือนครั้งยาน Apollo 1 จนนักบินอวกาศเสียชีวิตถึง 3 รายนั่นเอง
เมื่อลองฟังสาเหตุตรงนี้แล้ว ก็ต้องยอมรับว่าองค์กร NASA นั้นสามารถหาแนวคิดในการแก้ปัญหาในระยะยาวได้อย่างชาญฉลาดมาก เพราะได้มีการวิเคราะห์ถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่โด่งดังและกลายเป็นเรื่องเล่าให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมในความฉลาดของสหรัฐอเมริกามาจนถึงปัจจุบัน