เทคนิคการเลือกใช้ปากกาในการทำ Bullet Journal
หลายคนคงสงสัยว่า Bullet Journal คืออะไร ซึ่งหากใครเคยทำแพลนเนอร์ (Planner) ซึ่งเป็นบันทึกที่ช่วยในการจัดระเบียบชีวิต ตั้งเป้าหมาย และจดบันทึกประจำวันต่าง ๆ ก็จะพอนึกภาพออกกันบ้าง Bullet Journal หรืออาจจะรู้จักในอีกชื่อว่า “BUJO (บูโจ)” เป็นการจดบันทึกด้วยมือ ซึ่งจะช่วยในการจัดระเบียบชีวิตประจำวัน และช่วยในการจัดการกระบวนความคิดต่าง ๆ ลำดับความคิดให้เป็นระเบียบ มีแบบแผน จัดสรรเวลาในอนาคต เพื่อช่วยให้ชีวิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย Bullet Journal นั้นได้ถูกคิดค้นโดยนักเขียนชื่อ Ryder Caroll ชาวอเมริกัน หากมองดูแล้วบูโจนั้นก็คล้าย ๆ กับการทำ Planner หรือทำ To-do list รูปแบบหนึ่งนั่นเอง เพียงแต่บูโจไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ไม่เพียงแต่เป็นการวางแผน การตั้งเป้าหมาย แต่สามารถเพิ่มเรื่องราวต่าง ๆ ได้ในรูปแบบของแต่ละคน ซึ่งในส่วนนี้สามารถทำให้เราได้ใช้จินตนการและความคิดสร้างสรรค์ใส่ลงไปในบันทึกบูโจของเราได้อย่างไม่มีขีดจำกัด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจดบูโจให้มีประสิทธิภาพนั้นก็มีหลักการที่เป็นหัวใจหลัก ๆ ของการเขียนบูโจอยู่ 2 ข้อ นั่นก็คือ Rapid Logging และ Module ซึ่งแต่ละข้อมีความสำคัญดังนี้คือ 1. Rapid Logging คือ การจดให้ได้เนื้อหาที่กระชับและเข้าใจง่าย โดยจะมี 4 องค์ประกอบหลัก ๆ คือ หัวข้อ – การตั้งหัวข้อช่วยให้ง่ายต่อการจัดการหมวดหมู่ของบันทึกของเรา, เลขหน้า – เพื่อใช้ในการทำสารบัญ ช่วยในการค้นหาได้ในอนาคต, ประโยคสั้น ๆ – ใช้ประโยคสั้น ๆ และเข้าใจง่ายในการบันทึก และสุดท้าย Bullet คือการแสดงสถานะของกิจกรรมต่าง ๆ ว่าอยู่ในขั้นตอนไหนโดยอาจใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ มาแทน ซึ่งตรงนี้เป็นหัวใจของการทำ Bullet Journal เลยก็ว่าได้ 2. Modules หรือโครงสร้าง คือ การวางขอบเขตในการทำ Bullet journal นั่นเอง เป็นการกำหนดว่าระยะของการวางแผน โดยแพลนระยะยาว จะเน้นเรื่องการตั้งเป้าหมาย และการติดตามกิจกรรมระยะยาว ส่วนแพลนระยะสั้นจะเน้นการบันทึกกิจกรรมแบบละเอียด และบันทึกช่วยจำ เป็นต้น
หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกับ bullet journal กันแล้ว มาดูกันต่อเลยว่า อุปกรณ์ไหนที่น่าเอามาใช้ในการเขียน Bullet Journal โดยหลัก ๆ แล้ว สิ่งที่ต้องมีในการทำบูโจ ซึ่งเป็นบันทึกด้วยมือนั้น ก็ควรมีสมุดโน้ตหรือกระดาษตามต้องการ และปากกา นั่นเอง ซึ่ง แต่ละอย่างสามารถเลือกได้ตามต้องการ ตามรูปแบบที่แต่ละคนชอบ เช่นสมุดโน้ต อาจเลือกกระดาษเปล่า, กระดาษลายจุด, ลายเส้น, กระดาษสีดำ หรือลายอื่น ๆ ความหนาของกระดาษก็สามารถเลือกได้ตามความต้องการเช่นกัน แต่ถ้าชอบใช้สีน้ำหรือสีเมจิกเบสน้ำต่าง ๆ ก็ควรใช้สมุดที่ค่อนข้างหนา เพื่อความทนทานและสวยงามของบูโจ ส่วนปากกาที่จะนำมาใช้ในการเขียนบูโจนั้น ปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลายมาก แต่ที่มักจะเห็นนิยมใช้ และมือใหม่หัดเขียนบูโจควรมี มีดังต่อไปนี้คือ
- ปากกาตัดเส้น ส่วนใหญ่ปากกาต้นเส้นจะเป็นในรูปแบบเหมือนปากกาหมึกซึมแบบกันน้ำ เนื่องจากปากกาประเภทนี้ จะต้องทนต่อน้ำ สีของปากกาชนิดอื่น ๆ และสีชนิดอื่นที่มี base เป็นน้ำ ที่อาจนำมาใช้ในการตกแต่งด้วย ปากกาตัดเส้นมักถูกนำมาใช้ในการจด เขียน และวาดรูปรายละเอียดต่าง ๆ เนื่องจากปากกาตัดเส้นมีหลายขนาดให้เลือกมาก ตั้งแต่ 0.15 – 2.0 มม. เลยก็มี ซึ่งขึ้นอยู่กับยี่ห้อที่เลือกใช้ ด้วยความกว้างของช่วงขนาดที่มีทำให้ปากกาตัดเส้นมักถูกนำมาใช้กับงานที่ต้องการความละเอียดได้เนื่องจากมีปากกาหัวเล็ก ๆ ให้เลือกใช้นั่นเอง ส่วนใหญ่แบรนด์ที่คนมักนิยมใช้กัน เช่น ปากกาพิกมา, ปากกา STAEDTLER และ ปากกา Copic เป็นต้น
- ปากกาหัวพู่กัน หรือ ปากกาหัวบรัช คือ ปากกาที่ออกแบบมารวมตัวกับพู่กัน ซึ่งสามารถใช้เทคนิคเส้นหนาและบางได้ในปากกาแท่งเดียว ปากกาหัวพู่กันนั้นมักถูกนิยมนำมาใช้เป็นปากกาสำหรับเขียน Calligraphy นั่นเอง ซึ่งการเขียน Calligraphy นั้นก็มักนิยมถูกนำมาใช้ในการตกแต่งบูโจให้ดูสวยงามมากขึ้น โดยปากกาหัวพู่กันนั้นก็จะมีหลายขนาด หลายแบบให้เลือก และหัวของปากกาพู่กันก็จะมีความเฉพาะตัวแตกต่างกันไป ปากกาหัวพูกัน หรือปากกาหัวบรัชแทบจะเป็นอุปกรณ์สำคัญเลยก็ว่าได้สำหรับกาเขียนบูโจ เพราะถือเป็นปากกาชนิดหลักที่มักใช้ในการให้สีสันในเล่มบูโจของเรานั่นเอง โดยผู้ที่เริ่มเขียนบูโจแรก ๆ มักจะเลือกซื้อปากกาพู่กันในชุดสีที่มีโทนไล่ ๆ กัน เพื่อความง่ายและความสวยงาม สีสันที่เข้ากันในการตกแต่งบูโจ ยกตัวอย่างเช่น ชมพู ครีม ส้ม เป็นต้น
- ปากกาเจล หรือปากกาหมึกเจล มักนิยมนำมาใช้ในการตกแต่งบูโจเช่นกัน เนื่องจากปากกาเจลจะให้สีที่ชัดและสวยงาม และได้เนื้อสีที่แตกต่าง ตัดกับปากกาหัวพู่กัน จึงจะช่วยให้การตกแต่งบูโจดูมีเทคนิคและลูกเล่นมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งปากกาเจลนั้นก็มีหลากหลายสีให้เลือกเช่นกัน และปากกาเจลมีความพิเศษตรงที่ ปากกาเจลสีขาว หรือสีอ่อนเบสขาว สามารถนำมาเขียนในกระดาษสีดำ หรือสีเข้มได้นั่นเอง
นอกจากสมุดและปากกาต่าง ๆ ที่ได้แนะนำมานี้ ก็ยังมีอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ควรมีสำหรับนักเขียนบูโจมือใหม่อีกมากมาย เช่น ดินสอ, วาชิเทป (Washi tapes) – เทปกาวที่มีลวดลายต่าง ๆ ใช้ตกแต่งหน้าบูโจ และกาวสองหน้าแบบ Roller ใช้ในการแปะของตกแต่งต่าง ๆ หรือแปะเพื่อปิดส่วนที่พลาดได้ เป็นต้น การเขียนบูโจถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการตั้งเป้าหมาย และจัดการชีวิตให้เป็นระเบียบมากขึ้น หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเขียน Bullet Journal ของแต่ละคนได้
สินค้าแนะนำ